Bioderma - Woman protecting from the sun

ทุกคนต่างก็ชอบแสงแดด… แดดทำให้อารมณ์ของคุณดีขึ้น ให้พลังงานแก่คุณ และช่วยให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีซึ่งจำเป็นต่อการดูดซึมแคลเซียมได้ นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการหลั่งเมลาโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอีกด้วย  ที่กล่าวมาล้วนเป็นแง่บวก  แต่พอพลิกเหรียญมาอีกด้านนั้น ผลช่างรุนแรงนัก กล่าวคือ การสัมผัสกับรังสีของดวงอาทิตย์นั้นมีผลเสียมากมายต่อผิวหนังและสุขภาพโดยรวมของคุณ  ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีประสิทธิภาพโดยพิจารณาจากความเข้มของรังสีและประเภทผิวของคุณ  

รังสีของดวงอาทิตย์ทำงานอย่างไร

ดวงอาทิตย์ปล่อยรังสีแสงความยาวคลื่นต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จากสั้นที่สุดไปหายาวที่สุด  นอกจากนี้ยังปล่อยรังสีคอสมิก รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ รังสีอัลตราไวโอเลต (UV) (รวมถึงรังสี UVC  UVB  และ UVA) รังสีที่มองเห็นได้ รังสีอินฟราเรด (IR) และคลื่นวิทยุอีกด้วย
ส่วนที่อันตรายที่สุดของรังสีของดวงอาทิตย์ถูกกรองโดยชั้นบรรยากาศ  สองในสามของรังสีนี้จะมาถึงพื้นโลก  รังสีคอสมิก รังสีแกมมา รังสีเอกซ์ และ UVC ที่ไม่เหมาะกับสิ่งมีชีวิตมาไม่ถึงพื้นผิวโลก  รังสีที่มาถึงตัวเราได้ (UVB, UVA,  รังสีที่มองเห็นได้ และรังสีอินฟราเรด) มีอิทธิพลต่อร่างกาย   รังสีอินฟราเรดให้ความร้อน รังสีเหล่านี้ทำให้ผิวรู้สึกร้อน ซึ่งต่างจากรังสี UVB และ UVA ที่มองไม่เห็นและเย็น แต่กลับส่งผลทางชีวภาพเป็นอย่างมาก

ทำไมการป้องกันแสงแดดจึงเป็นสิ่งจำเป็น

รังสีที่แผ่จากดวงอาทิตย์มีผลเสียต่อผิวหนังตั้งแต่อาการผื่นแดงจากแสงแดด (ผิวไหม้จากแดด) ไปจนถึงการเร่งอายุของผิวหนังและมะเร็งผิวหนัง การเผชิญแสงแดดเป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งผิวหนัง ซึ่งเป็นผลร้ายแรงที่สุดจากรังสีที่ฉายออกมา  แต่คุณต้องพึงระลึกไว้ด้วยว่ายังมีความเสี่ยงอื่นๆ อีกด้วย เช่น โรคลมเหตุร้อนหรือฮีทสโตรก (heat stroke) โรคลมแดด (sun stroke) ความไวต่อแสง โรคตา และภูมิแพ้จากแสงแดด

  • ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าหยุดยั้งรังสี UVB ได้ถึง 85%  เพียง 15% เท่านั้นที่เข้าถึงผิวหนังชั้นหนังแท้   ปริมาณรังสี UVB ขึ้นอยู่กับฤดูกาล ละติจูด เวลาของวัน และระดับความสูง รังสีนี้คือรังสีที่เป็นเหตุให้ผิวเป็นสีแทนและไหม้จากแดด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนภัยตามธรรมชาติของผิวที่บ่งบอกว่าได้รับรังสี UVB มากเกินไป   รังสี UVB มีผลก่อมะเร็งในระยะยาว

 

  • รังสี UVA ซึมลึกเข้าสู่ผิว เกือบ 50% ของรังสีนี้ลงไปถึงผิวหนังชั้นหนังแท้  ดวงอาทิตย์ปล่อยรังสีเหล่านี้ออกมาตลอดทั้งปี และรังสีนี้ก็ลอดผ่านเมฆและหน้าต่างเข้ามา เป็นเหตุให้ผิวเสื่อมวัยลง (photoageing) และก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ  โมเลกุลเหล่านี้จะทำลายโครงสร้างเซลล์และดีเอ็นเอ มีผลในการก่อมะเร็ง ทว่าในระดับที่น้อยกว่ารังสี UVB
Sunbrun skin graphic

รังสียูวีที่แผ่ออกมาจะขึ้นอยู่กับว่าไปตกกระทบส่วนใดของโลก

พื้นที่ต่างกันจะกระจายรังสีออกไปในปริมาณที่แตกต่างกันออกไป เช่น หิมะสะท้อนรังสียูวี 80% ทราย 15% และน้ำ 25%  แม้จะอยู่ใต้น้ำลึกลงไป 40 ซม. ก็ตาม แต่ก็ยังได้รับรังสี UV ที่ระดับ 40% ของรังสีบนพื้นผิวน้ำ

รังสี UVA และ UVB ทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังเนื่องจากทำให้ภูมิคุ้มกันของผิวหนังอ่อนแอลง กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidative stress) อย่างมีนัยสำคัญ และสร้างความเสียหายบนดีเอ็นเอที่อาจทำให้เซลล์มะเร็งปรากฏขึ้นได้

"ใช่ว่าทุกสภาพผิวจะตอบสนองต่อรังสีจากดวงอาทิตย์ในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากผิวของแต่ละคนมีความไวต่อแสงแดดไม่เท่ากัน มีลักษณะโฟโตไทป์  (phototype) ของตนเอง  โฟโตไทป์คือคุณภาพการตอบสนองของแต่ละบุคคลต่อรังสีจากดวงอาทิตย์   โฟโตไทป์มีหกแบบ แบ่งตามโทนสีผิว สีผม มีฝ้า (หรือกระ) หรือไม่ และแนวโน้มที่บุคคลนั้นๆ จะมีผิวไหม้หรือผิวสีแทนมากน้อยเพียงใด

  1. โฟโตไทป์ 1: ผิวขาวมาก (หัวแดง) ผิวไหม้เป็นประจำ ไม่เคยเปลี่ยนเป็นสีแทนเลย มีกระมาก
  2. โฟโตไทป์ 2: ผิวขาว ผิวไหม้เป็นประจำ อาจเปลี่ยนเป็นสีแทนอ่อนๆ ได้  มีกระหลายจุด
  3. โฟโตไทป์ 3: ผิวขาวถึงผิวสีมะกอก  ผิวไหม้ในบางครั้ง มักเป็นสีแทน (สีแทนอ่อนถึงปานกลาง) อาจมีกระเล็กน้อย
  4. โฟโตไทป์ 4: ผิวสีมะกอก แทบไม่เคยไหม้ มักเป็นสีแทน (สีแทนเข้ม) ไม่มีกระ
  5. โฟโตไทป์ 5: ผิวสีน้ำตาล ไม่เคยไหม้ มักเป็นสีแทน (สีแทนเข้มมาก) ไม่มีกระ
  6. โฟโตไทป์ 6: ผิวดำ ไม่เคยไหม้ ไม่มีกระ

 
ยิ่งโฟโตไทป์ของคุณเป็นสีอ่อนเท่าใด (โดยเฉพาะโฟโตไทป์ 1 และ 2  ตลอดจน 3) คุณก็ยิ่งต้องใช้ครีมกันแดดสูงขึ้นเท่านั้น"

Your skin - hands skin colors

ผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนได้อย่างไร

"การที่ผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนนั้นมักเกิดจากรังสี UVB จากแสงแดด ""ตามธรรมชาติ"" เป็นวิธีที่ผิวจะปรับตัวและป้องกันตัวเองจากแสงแดด ทว่ามิใช่เกราะป้องกันอันสมบูรณ์แบบ  การที่ผิวเป็นสีแทนมักช่วยป้องกันผิวไหม้จากแดดได้ แต่ก็ไม่ควรกระตุ้นให้เผชิญแสงแดดมากเกินไป ซึ่งจะมีผลระยะยาว (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งผิวหนัง)
การสัมผัสกับแสงแดดจะกระตุ้นการทำงานของเมลาโนไซต์ (melanocytes) ซึ่งผลิตเมลานิน (melanin) เพื่อป้องกันตัวเองจากแสงแดด เมลานินจะเคลื่อนไปยังพื้นผิวด้านบนของผิวหนัง  ในขณะเดียวกัน ผิวก็จะหนาตัวขึ้น (จากการที่ผิวหนังชั้นนอกสุด (horny layer) มีความหนาเพิ่มขึ้น) ซึ่งเป็นปัจจัยป้องกันเพิ่มเติมพร้อมกับการสร้างเม็ดสี จำไว้ว่ารังสี UVA ทำให้เกิดการสร้างเม็ดสีขึ้นทันทีโดยกินเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่ผิวสีแทน แต่เป็นการเกิดออกซิเดชัน (oxidation) ที่มองเห็นได้ทันทีหลังออกแดด  รังสี UVB เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเริ่มเกิดขึ้นภายในสองถึงสามวันหลังจากการสัมผัสรังสีและไปถึงระดับสูงสุดสามสัปดาห์หลังจากการสัมผัสนี้"

ครีมกันแดดได้รับการออกแบบมาเพื่อกรองทั้งรังสี UVB และ UVA โดยมีความสมดุลของทั้งสองอย่างเหมาะสม  พลังการกรองรังสีเหล่านั้นระบุโดยค่า SPF (Sun Protection Factor)  ควรเลือกค่า SPF นี้ตามโฟโตไทป์ของคุณและตามความเข้มของรังสีจากดวงอาทิตย์ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสถานที่ (ทะเล ภูเขา ฯลฯ)
. SPF 6 = การป้องกันแสงแดดต่ำ
. SPF 15 = การป้องกันแสงแดดปานกลาง
. SPF 30 = การป้องกันแสงแดดสูง
. SPF 50+ = การป้องกันแสงแดดสูงมาก

เลือกครีมกันแดดที่มีเนื้อสัมผัสแบบที่คุณชอบ ซึ่งจะทำให้คุณสามารถทาได้สม่ำเสมอยิ่งขึ้น  คุณควรจะทาซ้ำทุกสองชั่วโมงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  นอกจากนี้ครีมกันแดดบางสูตรยังกันน้ำหรือเร่งให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีแทนเร็วขึ้นเพื่อลดเวลาในการสัมผัสแดดอีกด้วย

Skin graphic - sun protection

แสงแดดมีผลอย่างไรต่อความริ้วรอยก่อนวัย

ผู้เชี่ยวชาญ* ระบุว่า 80% ของริ้วรอยบนใบหน้าเกิดจากการสัมผัสแสงแดด!  ความชราที่เชื่อมโยงกับการเผชิญแสงแดดนี้เรียกว่าริ้วรอยที่เกิดจากแสงแดด (photoageing)   สัญญาณต่างๆ ที่แสดงให้เห็น เช่น ริ้วรอยลึก จุดด่างดำ และภาวะหลอดเลือดฝอยขยายตัวผิดปกติ (telangiectasias) (การขยายตัวของหลอดเลือดขนาดเล็กใต้ผิวหนังที่มองเห็นได้ชัดเจน)  ความเสื่อมวัยที่ถูกเร่งให้เกิดนี้จะส่งผลต่อบริเวณที่สัมผัสแสงแดดบ่อยๆ เช่น ใบหน้า แผ่นหลัง มือ ปลายแขน และเนินอก    รังสี UVB และ UVA เปลี่ยนแปลงเซลล์ผิวอย่างมาก ทำลายคอลลาเจนและอีลาสติน และอาจทำให้เกิดเนื้องอกที่เป็นมะเร็งได้  มีเหตุผลดีๆ มากมายในการฝึกให้เป็นนิสัยเพื่อรับมือกับแสงแดดและปกป้องตัวเองทุกครั้งที่ต้องเผชิญแสงแดด


* Gilchrest BA et al, Effect of chronologic aging and photoaging: an overview., J Am Acad Dermatol, 1989; 21(3 Pt 2): 610-3
 

Hour
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดเมื่อรังสีจากดวงอาทิตย์เข้มสูงสุด  ยิ่งดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าสูงเท่าไร รังสีอัลตราไวโอเลตก็จะยิ่งแรงขึ้นเท่านั้น  ในฤดูร้อน ช่วงเวลานี้จะเริ่มตั้งแต่เวลา 11.00 น. ถึง 16.00 น. ในยุโรปตะวันตก
     
  • โดยทั่วไปแล้ว ไม่ควรอยู่ที่ชายหาดตลอดทั้งวัน
     
  • ใช้แว่นกันแดดแบบป้องกันเต็มรูปแบบที่มีค่าดัชนีป้องกันรังสียูวีสูง สวมหมวกปีกกว้าง และใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ที่ตัวยาวถ้าเป็นไปได้ (เสื้อยืดแขนยาว และกางเกงขาสั้นเหนือเข่าหรือกางเกงขายาว) จำไว้ว่าการสวมใส่เสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าสีเข้ม เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องตัวเอง
Body areas
  • อย่าเชื่อความรู้สึกตัวเอง  เนื่องจากรังสีอินฟราเรดทำให้เกิดความรู้สึกร้อน แต่รังสี UV ไม่เป็นเช่นนั้น คุณจึงอาจถูกแดดเผาอย่างเต็มที่โดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกแสงแดดมากเกินไปเลย (เช่น เมื่อคุณอยู่บนเรือหรืออยู่กลางแจ้งในวันหนึ่งในฤดูร้อนที่มีเมฆมาก)
  • ท้องฟ้าสีเทา ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะระมัดระวังเรื่องแสงแดดน้อยลงเลย  อันที่จริง รังสี UV ปริมาณมากลอดผ่านเมฆได้มากกว่ารังสีอินฟราเรดและแสงที่มองเห็นได้เสียอีก  ฟ้าหม่นนี้อาจทำให้กลางวันอากาศเย็นลงและสว่างน้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงต่อรังสีอัลตราไวโอเลตจะลดลงไปด้วย
Sun
  • บนภูเขา มีความเสี่ยงแม้ในขณะที่อุณหภูมิต่ำมาก  อันที่จริง เกราะป้องกันที่ชั้นบรรยากาศมอบให้นั้นลดลงเนื่องจากระดับความสูง ดังนั้นแสงอาทิตย์จึงรุนแรงยิ่งขึ้น (ปริมาณรังสี UVB ที่ไปถึงผิวหนังจะเพิ่มขึ้น 4% ทุก ๆ 300 เมตร ) นอกจากนี้ แสงสะท้อนบนหิมะยังช่วยเพิ่มปริมาณรังสีอัลตราไวโอเลตที่เข้าสู่ผิวหนังได้อย่างมากอีกด้วย (หิมะสามารถสะท้อนรังสี UV ได้ถึง 80%)
     
  • เลือกอยู่ในที่ร่มมากกว่าแสงแดด แต่จงตระหนักไว้ว่าการทำเช่นนี้ก็ไม่ได้ประกันว่าจะได้รับการปกป้องเสมอไป  ร่มเงาช่วยปกป้องเราจากรังสีจาก ดวงอาทิตย์โดยตรงได้ก็จริง แต่ไม่ได้ป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ที่สะท้อนจากพื้นดิน (หญ้าสะท้อนรังสียูวีที่ตกกระทบไปถึงได้ 3%  ทราย 5 ถึง 25%   หิมะ 30 ถึง 80%   และน้ำ 5 ถึง 90%) หรือไม่ได้ป้องกันรังสีดวงอาทิตย์ที่แพร่กระจายโดยอนุภาคที่ล่องลอยอยู่ในบรรยากาศ (ตอนเที่ยง 30 ถึง 50% ของรังสียูวีที่ได้รับนั้นเกิดจากการรังสีที่แผ่กระจายโดยโมเลกุลในบรรยากาศ)
     
  • อย่ามองข้ามลมและน้ำ กล่าวคือ ลมและน้ำจะยับยั้งสัญญาณเตือนที่เกิดจากรังสีอินฟราเรดโดยลดความรู้สึกร้อนลง แต่รังสี UV ยังคงอยู่!
Seasons
  • หากข้างนอกร้อน ให้ปกป้องลูกของคุณจากทั้งโรคลมเหตุร้อนหรือฮีทสโตรก (heat stroke) และการถูกแดดเผา  ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกดื่มน้ำบ่อยๆ
     
  • อย่าสัมผัสแดดหลังจากใช้น้ำหอมหรือเมื่อรับประทานยาบางชนิดโดยไม่ได้ขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรของคุณก่อน
Pills
  • อย่าอยู่กลางแดดเป็นเวลานานโดยอ้างว่าคุณได้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีค่าการป้องกันสูงแล้ว  วัตถุประสงค์ของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ใช่เพื่อให้จำนวนชั่วโมงที่คุณเผชิญแดดได้นานยิ่งขึ้น แต่เพื่อลดความเสี่ยงขณะต้องสัมผัสแสงแดดลง