สิวที่แก้มปัญหากวนใจของใครหลาย ๆ คน บางครั้งก็ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร ทำไมถึงเกิดซ้ำ ๆ ไม่หายสักที ทำให้ส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้ชีวิต ในบทความนี้ Bioderma จะพามาเจาะลึกกับสิวที่แก้มว่า เกิดจากอะไรกันแน่ แล้วมีสิวกี่ประเภท ต้องรักษาและป้องกันอย่างไร เพื่อไม่ให้สิวที่แก้มกลับมาเกิดซ้ำอีก 

สิวที่แก้มเกิดจากสาเหตุใด 

สิวที่แก้มเกิดจากน้ำมันที่อุดตันอยู่ในรูขุมขน หรือการติดเชื้อใต้ผิวหนังทำให้เกิดการอักเสบขึ้นมา ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดสิวผดที่แก้มมีหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความมันบนผิวหนัง ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป โดยสาเหตุการเกิดสิวที่แก้มมีดังนี้

 

  • สิวฮอร์โมน

สิวที่แก้มสามารถเกิดจากฮอร์โมนได้ด้วย เมื่อปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เพิ่มมากขึ้นจะไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน ก่อให้เกิดการอุดตันของรูขุมขนจนกลายเป็นสิวได้ โดยสิวฮอร์โมนแก้มจะพบมากในวัยผู้หญิงใกล้มีประจำเดือน หรือผู้ที่มีระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนมากกว่าปกติ

 

  • ความมันบนผิวหนัง

หน้ามันเกิดจากต่อมไขมันที่แทรกตัวอยู่ตามรูขุมขนใต้ผิวหนัง ผลิตน้ำมันออกมามากเกินไปจนทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันที่แก้มตามมาได้ 

 

  • ผิวสัมผัสกับสิ่งสกปรก

เมื่อผิวตรงแก้มได้สัมผัสกับสิ่งสกปรก เช่น การเอามือจับใบหน้า โทรศัพท์มือถือ ปลอกหมอน การเสียดสีของหน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์แต่งหน้า จะทำให้มีแบคทีเรียสะสมอยู่ที่ผิวมากกว่าปกติ ทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบจนเกิดการอุดตัน สาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวที่แก้มได้ 

 

  • การใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันยังส่งผลให้เป็นสิวที่แก้มได้ ทั้งสภาพแวดล้อม การแพ้เครื่องสำอางหรือสกินแคร์ต่าง ๆ อาหารการกิน รวมถึงสภาพจิตใจ ความเครียด และการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพออีกด้วย

สิวที่แก้มมีกี่ประเภท 

สิวที่แก้มสามารถเกิดได้หลากหลายประเภท โดยหลัก ๆ จะแบ่งลักษณะสิวออกเป็น 2 แบบ คือ 

  1. สิวไม่อักเสบ คือสิวอุดตันที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนแต่ไม่มีการอักเสบ ได้แก่สิวหัวเปิดและสิวหัวปิด 
     
  2. สิวอักเสบ คือสิวที่มีอาการอักเสบบริเวณผิวหนังหรือต่อมไขมัน จากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งสิวอักเสบจะประกอบไปด้วยสิวหัวหนอง สิวหัวช้าง สิวไต สิวตุ่มแดง เป็นต้น

สำหรับประเภทสิวที่แก้มมักเจอบ่อย ๆ มีดังนี้

สิวผดที่แก้ม

สิวผดที่แก้ม (Acne aestivalis หรือ Acne mallorca) จะมีลักษณะเป็นผื่นหรือตุ่มนูนเล็ก ๆ ไม่มีหัวและมีหนองอยู่ข้างในคล้ายตุ่มน้ำขึ้นเป็นจำนวนมาก บางคนอาจมีอาการคันร่วมด้วย สำหรับต้นเหตุของสิวผดที่แท้จริงเกิดจากผิวถูกการกระตุ้นด้วยแสง UVA ทำให้เกิดเป็นผดเม็ดเล็ก ๆ ขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดสิวที่แก้มได้ เช่น สภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือร้อนชื้น ฝุ่นละออง มลภาวะทางอากาศ การแพ้เครื่องสำอางหรือสกินแคร์ การใส่หน้ากากอนามัย เป็นต้น

หลาย ๆ คนเข้าใจว่าสิวผดที่แก้มเป็นโรคสิว จึงพยายามบีบสิวเพื่อรักษาจนเกิดการอักเสบขึ้น แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถรักษาสิวผดที่แก้มแบบธรรมชาติได้ ไม่ว่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงแสงแดด หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ล้างหน้าให้ถูกวิธี เป็นต้น 

 

 

สิวผดที่แก้ม

สิวอุดตันที่แก้ม

สิวอุดตันที่แก้ม (Comedones) คือสิวไม่อักเสบประเภทหนึ่งมีลักษณะนูนออกมาจากผิวหนัง โดยสิวอุดตันที่แก้มมีด้วยกัน 2 ชนิด คือ สิวอุดตันหัวเปิดหรือสิวหัวดำ และสิวอุดตันหัวปิดหรือสิวหัวขาว สาเหตุของการเกิดสิวที่แก้มประเภทนี้หลัก ๆ เกิดจากการอุดตันของเซลล์ผิว ไขมัน เคราติน ระดับฮอร์โมนแอนโดรเจน รวมถึงแบคทีเรียจากสิ่งสกปรก 

ความแตกต่างของสิวอุดตันที่แก้มทั้ง 2 ชนิด แตกต่างกันที่ลักษณะการอุดตัน ถ้าเกิดการอุดตันในรูขุมขน ปากรูขุมขนแคบ สิวที่เกิดขึ้นจะเป็นสิวหัวปิด แต่ถ้าปากรูขุมขนขยาย สามารถเห็นสิ่งอุดตันหรือหัวสิวได้จากภายนอกจะเรียกว่าสิวหัวเปิด 

การรักษาสิวอุดตันที่แก้มโดยเฉพาะสิวอุดตันหัวปิด ควรรีบรักษาให้เร็วที่สุดถ้าหากปล่อยไว้สิวที่แก้มประเภทนี้สามารถพัฒนาไปเป็นสิวอักเสบได้

สิวอักเสบที่แก้ม

สิวอักเสบที่แก้ม (Inflammatory acne) คือสิวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย C.acnes ที่ทำให้เกิดสิวอักเสบบวมแดง โดยสิวอักเสบที่แก้มจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดงขนาดเล็กหรือตุ่มหนอง และจะมีหัวหนองอยู่ข้างบนตุ่ม สิวอักเสบบริเวณแก้มยังมีอีกหลายประเภทแยกย่อยออกมา เช่น สิวตุ่มแดง สิวหัวหนอง สิวหัวช้าง เป็นต้น นอกจากนี้สาเหตุสิวอักเสบที่แก้มยังสามารถเกิดจากฮอร์โมน พันธุกรรม และการใช้ชีวิตประจำวันได้ด้วย ทั้งการบีบสิว แคะสิว การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด มลภาวะทางอากาศ สิ่งเหล่านี้สามารถก่อให้เกิดสิวที่แก้มได้

การรักษาสิวอักเสบที่แก้มจะค่อนข้างรักษายากว่าสิวอุดตัน เนื่องจากอาจจะต้องมีการใช้ยาบางชนิดเพื่อรักษาการอักเสบให้บรรเทาลง เช่น ยาเตรติโนอิน (Tretinoin) ที่สามารถลดการอุดตันและการก่อตัวของสิว อะดาพาลีน (Adapalene) ที่ช่วยลดอาการบวมและอาการอักเสบที่ผิวหนังได้ เป็นต้น และที่สำคัญไม่ควรกดสิวบริเวณสิวที่แก้ม เพราะอาจเสี่ยงอักเสบมากกว่าเดิมหรือติดเชื้อได้

สิวอักเสบที่แก้ม

สิวที่แก้มไม่มีหัว

สิวไม่มีหัวที่แก้มหรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า “สิวตุ่มนูนแดง” เป็นหนึ่งในประเภทสิวอักเสบที่แก้มนั่นเอง ปัญหาสิวไม่มีหัวเกิดจากการที่ รูขุมขนที่อุดตันมีการรั่วไหลเข้าสู่ชั้นลึกของผิวหนังแทนที่จะออกมาด้านบน จนกลายเป็นสิวตุ่มนูนแดง อย่างที่หลายคนเคยเห็น

วิธีรักษาสิวที่แก้มแบบไม่มีหัวสามารถทายา Benzoyl Peroxide เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ภายใต้ผิวหนังได้ และไม่ควรบีบสิวเพราะอาจเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบมากขึ้นกว่าเดิม

สิวไม่มีหัวแก้ม

สิวหัวดำหรือสิวเสี้ยนที่แก้ม

สิวหัวดําที่แก้ม (Blackheads) เป็นสิวอุดตันประเภทสิวหัวเปิด มีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก ตรงกลางจะมีการฝังตัวของเคราติน (Keratin) และไขมัน  (Lipid) เมื่อเกิดปฏิกิริยา Oxidation กับออกซิเจนในอากาศ บริเวณนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นสีที่เข้มขึ้น ทำให้มองเห็นเป็นสิวหัวดำนั่นเอง 

หลาย ๆ คนมักคิดว่าสิวหัวดำกับสิวเสี้ยนคือสิวแบบเดียวกัน แต่จริง ๆ แล้วทั้งสองมีความแตกต่างกันอยู่ โดยสิวเสี้ยนที่แก้มจะมีลักษณะเป็นจุดสีเข้ม มีขนาดเล็กมาก เมื่อใช้มือลูบที่แก้มจะรู้สึกว่ามีสิ่งแหลม ๆ โผล่พ้นรูขุมขนขึ้นมา สิวทั้งสองประเภทเป็นปัญหาที่ไม่รุนแรง แต่สามารถส่งผลให้เรารู้สึกไม่มั่นใจได้

รักษาสิวที่แก้มอย่างไรดี 

วิธีรักษาสิวที่แก้มโดยส่วนมากจะใช้ยาทาเป็นหลัก แต่ถ้าหากมีอาการรุนแรงก็อาจจะมียาสำหรับทานร่วมด้วย ในปัจจุบันวิธีรักษาสิวนอกจากจะทายาและกินยาแล้ว ยังมีหัตถการความงามที่สามารถรักษาสิวได้ เช่น เลเซอร์ กดสิว เป็นต้น โดยวิธีรักษาสิวที่แก้มหลัก ๆ สามารถแบ่งออกเป็น 2 วิธี ดังนี้

 

การใช้ยารักษาสิวที่แก้ม

เป็นสิวที่แก้มรักษายังไง? วิธีรักษาสิวข้างแก้มที่นิยมกันมากที่สุดคือ การใช้ยารักษาสิวแบบทา ซึ่งยาทาประเภทนี้เป็นยาทาภายนอก สามารถใช้รักษาสิวที่แก้มทั้งสิวอักเสบและสิวอุดตันได้ โดยยาทาที่นิยมใช้มากที่สุดคือ Benzoyl peroxide และ ยากลุ่ม Retinoids นอกจากนี้ยังมียาสำหรับรับประทานเพื่อใช้รักษาสิวที่แก้มด้วย ในกรณีที่เป็นสิวอักเสบที่แก้มรุนแรง โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ยาทาภายนอก

  • Benzoyl peroxide - เป็นยาทาสำหรับรักษาสิว มีสรรพคุณช่วยให้ผิวแห้งและต้านเชื้อแบคทีเรีย เมื่อทาแล้วจะส่งผลให้น้ำมันส่วนเกินและสิ่งสกปรกถูกล้างออกจากใบหน้าได้ง่าย หากต้องการใช้ยาตัวนี้ในการรักษาสิวที่แก้ม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
  • Retinoids - เป็นยากลุ่มอนุพันธ์กรดวิตามินเอ สามารถออกฤทธิ์ลดการอักเสบและการอุดตันของรูขุมขน โดยจะช่วยลดจำนวนและความรุนแรงของสิว ช่วยให้สิวที่แก้มหายเร็วขึ้น ก่อนใช้ยาตัวนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เช่นกัน เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาได้ เช่น แห้ง แสบ คัน หรือระคายเคือง บริเวณผิวหนัง

หากต้องการใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เนื่องจากยา Retinoids ที่ใช้รักษาสิวบางตัวไม่สามารถใช้ร่วมกับยา Benzoyl peroxide ได้

 

2. ยาสำหรับรับประทาน

  • ยาปฏิชีวนะ - จะออกฤทธิ์ช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียลง การใช้ยาปฏิชีวนะควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • ยาปรับฮอร์โมน - เช่น การรับประทานยาคุมกำเนิด จะช่วยปรับให้ปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจนลดลง ทำให้ต่อมไขมันและเซลล์ผิวหนังถูกกระตุ้นน้อยลง จึงสามารถช่วยลดการเกิดสิวที่แก้มได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชก่อนใช้ยา
  • ยา Isotretinoin - จะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของต่อมไขมัน ช่วยลดการอักเสบและทำให้กระบวนการผลัดเซลล์ผิวเป็นปกติ แต่มีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างอันตราย จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์

 

การไม่ใช้ยารักษาสิวที่แก้ม

ในกรณีไม่ใช้ยาสำหรับรักษาสิวที่แก้ม ปัจจุบันมีหัตถการรักษาสิวเกิดขึ้นมากมายเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยหัตถการที่ผู้คนนิยมทำกันคือ การกดสิว การเลเซอร์ และการใช้สกินแคร์ที่อ่อนโยนดูแลสิวที่แก้ม 

  • การกดสิวที่แก้ม - เป็นเพียงการนำหัวสิวออกไปและจะทำในกรณีที่เป็นสิวอุดตัน สำหรับการกดสิวอุดตันหัวปิด จะช่วยป้องกันการพัฒนาของหัวสิวที่สามารถขยายใหญ่กลายเป็นสิวอักเสบขึ้นได้ และการกดสิวอุดตันหัวเปิดจะเป็นเพียงการนำหัวสิวออกไปเท่านั้น ไม่มีผลต่อการรักษา
  • การเลเซอร์ - การรักษาสิวที่แก้มด้วยการเลเซอร์ แพทย์จะใช้ร่วมกับยาทาที่ทำให้แบคทีเรียไวต่อแสง ทำให้ช่วยลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียบนผิวลงได้ อีกทั้งยังส่งผลต่อการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้การเกิดสิวน้อยลง
  • การใช้สกินแคร์รักษาสิวที่แก้ม - ขั้นตอนการดูแลสิวที่แก้มโดยใช้สกินแคร์หรือผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนเหมาะกับผิวแพ้ง่ายเป็นสิว จะช่วยควบคุมความมันบนใบหน้าทำให้ผิวมีความสมดุล และช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกที่อุดตันตามรูขุมขนออกไปได้

เป็นสิวที่แก้มไม่หายสักที ทำอย่างไรดี? เนื่องจากสิวที่แก้มมักเกิดจากปัญหาการสะสมของแบคทีเรียและเรื่องฮอร์โมนเป็นหลัก Bioderma มีวิธีป้องกันสิวที่แก้ม ดังนี้

  1. ควรล้างหน้าให้สะอาดเป็นประจำทุกครั้ง วันละ 2 ครั้ง
  2. ล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ เพื่อช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปตามสิ่งของ หรือใบหน้าที่เราสัมผัส
  3. หลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสกับแก้มโดยไม่จำเป็น เพื่อลดการสะสมของแบคทีเรีย 
  4. ไม่ควรนำเอาโทรศัพท์มือถือเข้าห้องน้ำ เพราะเมื่อเราต้องกดชักโครก เชื้อโรคอาจแพร่กระจายได้
  5. ทำความสะอาดหน้าจอโทรศัพท์มือถือเป็นประจำทุกวันด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อลดจำนวนแบคทีเรียที่สะสมอยู่หน้าจอ
  6. เปลี่ยนปลอกหมอน ปลอกหมอนข้าง หรือผ้าปูที่นอนบ่อย ๆ 
  7. ทำความสะอาดแปรงแต่งหน้า หรืออุปกรณ์การแต่งหน้าบ่อย ๆ 
  8. ควรแต่งหน้าทาครีมบาง ๆ เพื่อลดการอุดตันของเครื่องสำอาง หากเป็นสิวอักเสบที่แก้มรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการแต่งหน้า
  9. ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าที่อ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง
  10. ลดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยปรับระดับฮอร์โมน
รักษาสิวที่แก้ม

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสิวที่แก้ม

เป็นสิวที่แก้มแต่งหน้าได้ไหม

ในกรณีที่เป็นสิวที่แก้มควรเช็กระดับความรุนแรงของสิวก่อนว่า ตนเองเป็นสิวประเภทใด รุนแรงไหม ถ้าหากเป็นสิวผดที่แก้ม ไม่รุนแรงมากนักก็สามารถแต่งหน้าได้ตามปกติ แต่ก็อาจจะลดขั้นตอนบางอย่างลงและแต่งหน้าบาง ๆ แทน เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตันของสิ่งสกปรกในรูขุมขน แต่ถ้าหากว่าเป็นสิวอักเสบที่แก้มรุนแรงก็ควรพักการแต่งหน้าไว้ก่อน เพราะตัวผลิตภัณฑ์อาจก่อให้เกิดสิวที่แก้มมากขึ้นกว่าเดิม

ข้อสรุปเกี่ยวกับสิวที่แก้ม

สิวที่แก้มโดยส่วนมากมักเกิดจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย และระดับฮอร์โมนที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นเราจึงควรหมั่นรักษาความสะอาดเพื่อลดจำนวนแบคทีเรียบนผิวหน้า แต่ถ้าหากพบว่าอาการสิวที่แก้มเป็นหนักหรือรุนแรงขึ้น ก็ควรเข้าปรึกษาแพทย์ผิวหนังเฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาต่อไป

Kristeen Cherney (March 7, 2019). Hormonal Acne: Traditional Treatments, Natural Remedies, and More. healthline. https://www.healthline.com/health/beauty-skin-care/hormonal-acne